@tinnakorn

เพิ่มมูลค่านมสด ด้วย Lactase Enzyme: Lactose-free milk

หน้าแรก / บทความ / เพิ่มมูลค่านมสด ด้วย Lactase Enzyme: Lactose-free milk

Lactose-free milk, Lactase Enzyme
Lactose-free milk, Lactase Enzyme

   ปัจจุบันผู้บริโภคมีความเข้าใจและมีการรับรู้เรื่องการแพ้น้ำตาลแลคโตสในนมมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคสรรหาผลิตภัณฑ์นม ที่เป็นปราศจากแลคโตส (Lactose-free) มากขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นโอกาสให้ผู้ผลิตนม สามารถผลิตนมประเภท lactose free เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาสำหรับสินค้าประเภทนมสดตามปกติซึ่งมีการแข่งขันอย่างดุเดือด ในขณะเดียวกันผู้ผลิตนม ก็ยังสามารถเข้าถึงลูกค้าที่ไม่สามารถทานนมได้เนื่องจากแพ้แลคโตส ทำให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้น  การทำนม lactose-free นั้นไม่ต้องลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติมจึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้ผลิตนมรายย่อย


การแพ้น้ำตาลแลคโตส (lactose intolerance)


   อาการแพ้น้ำตาลในนมหรือแพ้น้ำตาลแลคโตส (lactose intolerance) จะเกิดกับคนที่ร่างกายขาดเอนไซม์ แลคเตส (lactase) หรือ เบต้า-กาแลคโตซิเดส (beta-galactosidase) เป็นภาวะที่ลำไส้ไม่สามารถผลิตน้ำย่อยออกมาย่อยแลคโตส(lactose) ซึ่งเป็นน้ำตาลโมเลกุลคู่ที่พบมากในน้ำนมได้เพียงพอ ทำให้แลคโตส ตกค้างไปยังลำไส้ใหญ่ที่เต็มไปด้วยแบคทีเรีย ซึ่งทำให้เกิดก๊าซในลำไส้ โดยอาการที่พบคือ ท้องอืด ปวดท้อง มีลมในท้อง ผายลมบ่อย คลื่นไส้อาเจียน น้ำตาลแลคโตสที่ไม่ย่อยจะดูดน้ำกลับให้เข้ามาสู่ลำไส้ทำให้ท้องเสียถ่ายเหลว อาการจะเกิดหลังดื่มนมหรือรับประทานผลิตภัณฑ์จากนม ประมาณ 30 นาที- 2 ชม แต่เนื่องจากระดับความรุนแรงของอาการจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางคนสามารถกินผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนมวัวในปริมาณเล็กน้อยได้โดยไม่มีอาการมากนัก แต่บางคนนั้นแม้ได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนมวัวในปริมาณเพียงเล็กน้อย ก็อาจเกิดอาการอย่างรุนแรงได้ทำให้ไม่สามารถดื่มนมได้เลย น้ำตาลแลคโตสเป็นน้ำตาลที่พบมากในนมวัว นมแพะ นมแกะและผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนมต่างๆ เช่น  ไอศกรีม ชีส ขนมปัง เค้ก ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ โยเกิร์ต น้ำสลัด ช็อกโกแลต เครื่องดื่มเย็น เป็นต้น

   การแพ้น้ำตาลแลคโตสพบในผู้ใหญ่ได้ถึง 65-70% ของผู้ใหญ่ทั่วโลก โดยอุบัติการณ์แตกต่างกันตามกรรมพันธุ์ และเชื้อชาติ พบมากสุดในชาวเอเชีย ชาวผิวดำในสหรัฐอเมริกา ชาวยุโรปแถบเมดิเตอเรเนียนและพบน้อยมากในชาวผิวขาวยุโรปแถบสแกนดิเนเวีย


สาเหตุของการแพ้น้ำตาลแลคโตสแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ


  1. ภาวะพร่องเอนไซม์แลคเตส เป็นในผู้ใหญ่หรือเด็กโต เกิดจากการที่ผนังลำไส้เล็กผลิตเอนไซม์แลคเตสลงได้น้อยลงเรื่อย ๆ ตามอายุที่มากขึ้น
  2.  ภาวะขาดเอนไซม์ตั้งแต่เกิด เป็นภาวะที่พบได้น้อย อาการเป็นตั้งแต่เด็ก เป็นความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ที่ได้รับยีนส์ผิดปกติจากพ่อและแม่
  3. ภาวะขาดเอนไซม์หลังการอักเสบติดเชื้อของลำไส้ เนื่องจากผนังลำไส้เล็กถูกทำลายทำให้ผลิตเอนไซม์แลคเตสได้น้อยลงชั่วคราว แต่เมื่อรักษาการอักเสบ อาการต่างๆ ก็จะค่อยๆ ดีขึ้น และกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง

อาการแพ้น้ำตาลแลคโตส (Lactose intolerance) ไม่ใช่โรคเดียวกับแพ้นมวัว (Cow’s milk allergy)


   อาการแพ้น้ำตาลแลคโตส เป็นอาการที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินอาหาร เกิดจากการย่อยน้ำตาลในนมไม่ได้ ไม่ใช่อาการภูมิแพ้ของร่างกาย ไม่ถือเป็นโรคภูมิแพ้อาหาร ตรงกันข้ามกับอาการแพ้นมวัว (Cow’s milk allergy) ซึ่งเป็นการเกิดปฎิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อโปรตีนในนมวัว ร่างกายจะแสดงอาการที่หนักกว่า ภาวะแพ้โปรตีนนมวัวจะเกิดได้กับหลายระบบในร่างกาย ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจ เช่น มีน้ำมูกไหล คัดจมูก หลอดลมอักเสบ เป็นหวัดบ่อย ไอ  จาม หายใจลำบาก ระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน ถ่ายเป็นมูกเลือด อาการทางผิวหนัง เช่น มีผื่นแดง เป็นลมพิษ ผิวหนังอักเสบ เป็นตุ่มพอง และแสบคัน ซึ่งอาการอาจแสดงเพียงระบบเดียวหรือหลายระบบพร้อมกันก็ได้


วิธีการที่ช่วยลดการแพ้น้ำตาลในนม


  • หลีกเลี่ยงการรับประทานแลคโตส และหันไปดื่มนมอื่นๆ เช่น น้ำนมที่สกัดจากพืช นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ ซึ่งจะไม่มีแลคโตสอยู่แล้วโดยตามธรรมชาติ
  • ดื่มนมครั้งละน้อยๆกระจายไปหลายๆเวลาจะสามารถดื่มนมได้ปริมาณรวมมากขึ้น หรือดื่มนมพร้อมอาหาร จะทำให้สามารถทนปริมาณแลคโตสได้มากขึ้นและหลีกเลี่ยงการดื่มนมขณะท้องว่าง
  • งดหรือลดการดื่มนมและผลิตภัณฑ์จากนมในปริมาณที่มากเกินกว่าร่างกายรับได้ และระมัดระวังในการเลือกอาหารและเครื่องดื่มที่มีนมประกอบให้ไม่เกินปริมาณ จึงควรสังเกตและจำกัดปริมาณที่ตัวเองทนได้
  • ใช้เอนไซม์แลคเตสสังเคราะห์ ในรูปแบบเม็ด/แบบน้ำ โดยต้องทานพร้อมกับเมื่อดื่มนมคำแรก ข้อดีของเอนไซม์คือ ทำให้สามารถดื่มนมได้ตามปกติ แต่ข้อเสียคือเอนไซม์มีราคาแพง
  • ดื่มนมที่ปราศจากน้ำตาลแลคโตส (Lactose free milk )คือนมที่ผ่านกระบวนการย่อยสลายน้ำตาลแลคโตสด้วยเอนไซม์ แลคเตส (lactase) หรือ เบต้า-กาแลคโตซิเดส (beta-galactosidase) ทำให้น้ำตาลแลคโตสที่มีอยู่ในนมนั้นหมดไป รวมถึงทำให้โมเลกุลของนมเล็กลง​ จึงดื่มง่ายมากยิ่งขึ้น จึงเหมาะสำหรับคนที่แพ้น้ำตาลแลคโตสและนมยังคงรสชาติและสารอาหารครบถ้วน

เอนไซม์แลคเตส (Lactase enzyme)


   เอนไซม์แลคเตสถูกค้นพบครั้งแรกในสำไส้ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จากนั้นจึงถูกค้นพบในจุลินทรีย์ Escherichia coli และได้ค้นพบเอนไซม์แลคเตสในยีสต์และราในเวลาต่อมา สำหรับการพัฒนาเอนไซม์เพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมนั้น ปี ค.ศ.1957 มีการใช้เอนไซม์แลคเตสในการย่อยแลคโตสในหางนม เพื่อนำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์และถูกนำมาใช้ในอาหาร ต่อมาในปี ค.ศ.1977 ที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี มีการใช้เอนไซม์แลคเตสที่ผลิตได้จากยีสต์เพื่อใช้ในการผลิตนมที่มีปริมาณแลคเตสต่ำเป็นครั้งแรกในระดับอุตสาหกรรม


   สำหรับองค์การอาหารและยาของประเทศไทย มีการอนุญาตให้ใช้เอนไซม์แลคเตสในการผลิต และไม่ได้จัดเอนไซม์แลคเตสเป็นวัตถุเจือปนอาหาร (ไม่เป็น food additive) ดังนั้นไม่จำเป็นต้องแจ้งในฉลากสินค้า


คุณสมบัติของ เอนไซม์แลคเตส


   เอนไซม์แลคเตสเป็นเอนไซม์ชนิดหนึ่ง ซึ่งช่วยเร่งการเกิดปฏิกิริยาไฮโดรไลซิสของน้ำตาลแลคโตส เพื่อให้น้ำตาลแลคโตสซึ่งเป็นน้ำตาลโมเลกุลคู่แตกออกเป็น 2 โมเลกุล ทำให้ได้น้ำตาลกาแลคโตส 1 โมเลกุล และน้ำตาลกลูโคส 1 โมเลกุล ด้วยความสามารถนี้เอนไซม์แลคเตสจึงถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์นม เพื่อใช้ในการควบคุมการย่อยสลายหรือกำจัดน้ำตาลแลคโตสได้อย่างแม่นยำในกระบวนการผลิต เช่น การผลิตนมสเตอริไลซ์ นมพาสเจอร์ไรส์ นมยูเอชที ที่ปราศจากน้ำตาลแลคโตส (Lactose-Free)  ผลิตภัณฑ์ Lactose free จะทำให้ดูดซึมง่าย ระบบย่อยอาหารไม่ทำงานหนัก อีกทั้งช่วยทำให้เนื้อสัมผัสของโยเกิร์ตและไอศกรีมเนียนไม่หยาบ เนื่องจากป้องกันการเกิดการตกผลึกของน้ำตาลแลคโตสอีกด้วย


ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ใช้ เอนไซม์แลคเตส (Lactase enzyme) ในท้องตลาด

https://health.kapook.com/view212961.html

ผลิตภัณฑ์ เอนไซม์แลคเตส (Lactase enzyme)  ที่บริษัททินกร เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย 


MAYALACT®5000


   Mayalact 5000 เป็นเอนไซม์แลคเตสที่ผลิตได้จากการหมัก Kluyveromyces lactis เป็นเอนไซม์ธรรมชาติที่ย่อยแลคโตสให้เป็นกลูโคสและกาแลคโตส สินค้ามีการปรับปรุงและพัฒนามายาวนานกว่า 50 ปี และขายไปยังกว่า 60 ประเทศทั่วโลกโดยบริษัท Mayasanเหมาะสำหรับอุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์จากนมที่ต้องการสินค้าประเภทปราศจากแลคโตส (Lactose free) หรือลดปริมาณแลคโตส ข้อดีอื่นๆได้แก่

  • ช่วยเพิ่มความหวานโดยไม่เพิ่มปริมาณแคลอรี่ และใช้น้ำตาลในสูตรลดลง
  • ช่วยปรับปรุงลักษณะและความคงตัวโดยป้องกันการตกผลึกของแลคโตส
  • ไม่ยุ่งยากในการเพิ่มลงในกระบวนการผลิต
  • สินค้าคุณภาพสูง ไม่ทำให้เกิดรสชาติที่ไม่พึงประสงค์

   บริษัททินกรฯ เป็นผู้นำเข้าสารเคมี (chemical distributor) ที่ส่งเสริมสุขภาพของผู้คน เราเป็นตัวแทนจำหน่าย Lactase enzyme ซึ่งได้รับอนุญาตจากองค์การอาหารและยา

Related articles